Bangpakok Hospital

แนวทางการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยทั่วไป

7 มิ.ย. 2564



แนวทางการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยทั่วไป


ตามที่หลายท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อควรปฏิบัติทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีนต้องทำอย่างไร? เป็นโรคประจำตัวแบบไหนที่สามารถฉีดได้เลย หรือ แบบไหนที่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรับบริการฉีดวัคซีน?

โรงพยาบาลฯขออนุญาตนำเอาข้อมูลดีๆจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยมาแชร์ข้อมูลให้ได้ทราบกัน โดยทางคณะอนุกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติและจัดการความรู้ร่วมกับสมาคมวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ทางอายุรศาสตร์ ได้ประชุมจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรมจากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการให้วัคซีนได้ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน

ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน

1. สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

2. ไม่ควรออกกำลังกายหนักกว่าที่เคยทำปกติ

3. ไม่ควรพักผ่อนน้อยกว่าปกติ 1-2 วัน

กรณีที่ได้รับวัคซีนอื่นๆมาก่อน

กรณีที่ได้รับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันบาดทะยักสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะ แต่ให้ฉีดในตำแหน่งที่ต่างกัน หรือ อาจเว้นระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์

กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อยู่ในภาวะคงที่สามารถฉีดวัคซีนได้ทันที

-โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน
-โรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ

-โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
-โรคติดเชื้อเอชไอวี
-โรคข้ออักเสบ/โรคแพ้ภูมิตัวเอง

-โรคสะเก็ดเงิน
-ภาวะสมองเสื่อม
-อัมพาต/อัมพฤกษ์
-โรคไตเรื้อรัง

-ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง
-โรคหืด/ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
-ผู้ป่วยโรคไขข้อกระดูกฝ่อ

-ไขกระดูกทำงานผิดปกติ
-โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาและโรคมะเร็งอื่นๆ

กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างได้รับการบำบัดยาสามารถฉีดวัคซีนได้ทันที

-เคมีบำบัด/รังสีรักษา
-การบำบัดทดแทนไต
-ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ

-เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด
-อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ

-ยาสูดสเตียรอยด์
-ยาควบคุมอาการของโรคต่างๆ

กลุ่มผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย และ บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่างๆสามารถฉีดวัคซีนได้ทันที

-โรคเลือดออกง่าย

-เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ

-ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน

-ได้รับยาวาร์ฟารินต้านการแข็งตัวของเลือด

-บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่างๆ

กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูล และผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวสามารถฉีดวัคซีนได้ทันที

-ผู้ป่วยสมองเสื่อม
-ผู้ป่วยติดเตียง
-ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

กรณีที่สามารถฉีดวัคซีนได้แต่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม*

1.บุคคลที่มีประวัติแอนนาฟิแล็กซิสจากวัคซีนอื่นมาก่อน : แนะนำให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่ผู้ป่วยเคยแพ้และฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่มีส่วนประกอบนั้น

2.ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียรหรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต : แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันทีเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้วหรือก่อนจำหน่ายกลับ

3.ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง : แนะนำให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงแล้วรีบจัดให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันที

4.ผู้ป่วยโรคเลือดที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T-Cells : แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังการปลูกถ่ายเซลล์กำเนิด (Stem Cells) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T-Cells

5.ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ : แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังผ่าตัดหรือมีอาการคงที่แล้ว หรือพ้น 1 เดือนหลังได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ โดยให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน

6.ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี้ หรือได้รับยาแอนติบอดี้ : แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้

- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19พ้น 3 เดือนหลังได้รับการบำบัด

- ผู้ป่วยที่ได้รับยา rituximab พ้น 1 เดือนหลังรับยา rituximab หรือ ก่อนได้รับยา rituximab ครั้งแรกอย่างน้อย 14 วัน

- ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอนติบอดี้ขนานอื่นๆ เช่น omalizamab , benralizumab , dupilumab พ้น 7 วัน ก่อนหรือหลังได้รับยา

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.