Bangpakok Hospital

คลายกังวลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19

18 พ.ค. 2564


1. มีประจำเดือนหรือกำลังจะมีประจำเดือน ฉีดวัคซีนได้ไหม?

-ฉีดได้เลยไม่มีข้อห้ามอันใด ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน 

 

2.  หากกำลังตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกัน Covid19 ได้ไหม?

-เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ โดยทั่วไปเราจะไม่ให้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นวัคซีนใหม่ แต่หลักการทั่วไปทางการให้วัคซีน เช่น วัคซีนเชื้อตายเราให้ในสตรีตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และ 3 เช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก สำหรับ covid วัคซีนเป็นวัคซีนใหม่ เราจะไม่ให้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงของวัคซีน เช่น ถ้าสตรีตั้งครรภ์นั้นทำงานด่านหน้าที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายเช่นเป็นพยาบาลเป็นแพทย์ หรืออยู่ในแหล่งระบาดสูง ก็ให้คำนึงถึง ความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ เพราะถ้าติดเชื้อแล้วในสตรีตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ มีโอกาสที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่คนอื่น การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะแนะนำให้วัคซีนที่เป็นเชื้อตาย และที่มีข้อมูลในสตรีตั้งครรภ์บ้าง คือวัคซีนในกลุ่ม mRNA ที่มีการให้ในสตรีตั้งครรภ์ ส่วนไวรัสเวกเตอร์ โดยหลักการถือว่ามีชีวิตแต่ไม่สามารถแบ่งตัวได้ การเกิด ลิ่มเลือดก็เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนตัวอย่างเพราะในสตรีตั้งครรภ์ จึงยังไม่มีข้อมูล มากเพียงพอในสตรีตั้งครรภ์ 

วัคซีนของจีน sinovac เป็นวัคซีนเชื้อตาย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลในการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ จึงใช้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงหรืออันตรายของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการศึกษากันมากถึงการให้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ข้อมูลต่างๆและคงจะมีการเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆ 


3. กำลังจะเตรียมตัวมีบุตรฉีดวัคซีนได้ไหม?

-วัคซีนนี้ไม่มีข้อห้าม และ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจว่ากำลังตั้งครรภ์หรือเริ่มจะตั้งครรภ์ ไม่ต้องไปซื้อชุดตรวจมาตรวจก่อน แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็ม 2 ออกไป โดยไปฉีดหลังการตั้งครรภ์หรือฉีดวัคซีนนั้นต่อในไตรมาส 2 หรือ 3 ในกรณีที่สตรีผู้นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด 19 โดยดูประโยชน์ที่ได้และความเสี่ยงของวัคซีนเป็นหลัก

 

4. คุณแม่ที่ให้นมบุตรฉีดวัคซีนได้ไหม?

-ถึงแม้จะไม่มีข้อมูลในรายละเอียดทั้งหมด แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีน จะมีโอกาสผ่านมาในน้ำนมน้อยมากหรือแทบจะวัดไม่ได้ ดังนั้น การให้นมบุตรจึงไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด ที่จะให้วัคซีน และถ้าเราถึงกำหนดที่จะต้องให้วัคซีนโดยเฉพาะในแหล่งระบาด ก็ควรจะได้รับวัคซีน เพราะมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และเมื่อให้วัคซีนมาแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดนมมารดาแต่อย่างใด

 

5. การให้วัคซีน covid 19 จะมีผลทำให้มีบุตรยากหรือไม่?

-ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานอันใดที่บ่งบอกว่า covid 19 vaccine จะทำให้มีผลทำให้มีบุตรยาก

6. อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร?
-อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับในผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยหลังการรับบริการฉีดวัคซีนอาจเกิดอาการข้างเคียงเบื้องต้นขึ้นได้ เช่น มีไข้ต่ำ

ปวดศีรษะ คลื่นไส้ รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหน่วงๆบริเวณที่ฉีด เป็นต้น

 

ทั้งนี้ก่อนการตัดสินใจฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ควรชั่งน้ำหนักของประโยชน์และความเสี่ยงให้ดี และ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน และ หลังการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่เรายังคงต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกัน COVID-19 ได้ในระยะยาว



ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัย และบทสัมภาษณ์ mgronline
โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ 
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และราชบัณฑิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์โรคตับ ทางเดินอาหาร และโรคไวรัส ,
ที่ปรึกษาเครือโรงพยาบาลบางปะกอก-ปิยะเวท


 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.