ปวดท้องเรื้อรัง อย่าปล่อยผ่าน ก่อนปัญหาลุกลาม

ในยุคที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ทั้งการทำงานแข่งกับเวลา พักผ่อนน้อยและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารโดยตรง ทำให้หลายคนเริ่มมีอาการปวดท้อง จุกแน่น แสบร้อนกลางอก หรือท้องอืดอยู่บ่อยครั้ง แม้อาการเหล่านี้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่หากเกิดซ้ำบ่อย หรือเป็นเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของโรคทางเดินอาหารที่รุนแรงขึ้น เช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบ หรือแม้แต่มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยให้รักษาได้ตรงจุดและลดความเสี่ยงในระยะยาว
สังเกตตัวเองให้ดี…คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่?
- ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณลิ้นปี่ หรือกลางหน้าท้อง
- จุกแน่น ช่วงท้องบน หลังรับประทานอาหาร
- แสบร้อนกลางอก (กรดไหลย้อน)
- คลื่นไส้ อาเจียน
- กลืนอาหารลำบาก หรือรู้สึกติดที่ลำคอ
- เรอบ่อย โดยเฉพาะหลังอาหาร
- ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในกระเพาะ
- ถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ถ่ายปนเลือด
- อาเจียนเป็นเลือด
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
หากมีอาการ 2 ข้อขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
อาการเหล่านี้บอกอะไรคุณได้บ้าง?
อาการของโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การหลั่งกรดในกระเพาะมากเกินไป
- การติดเชื้อ Helicobacter pylori (เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะ)
- พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น กินไม่เป็นเวลา ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- ภาวะเครียดสะสม
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นประจำ
- โรคร้ายแรง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งลำไส้
การตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ: ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (EGD)
การส่องกล้อง (Esophagogastroduodenoscopy หรือ EGD) เป็นการตรวจดูภายในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นด้วยกล้องขนาดเล็ก ซึ่งแพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพต่างๆ ได้โดยตรง เช่น
- แผลในกระเพาะอาหาร / ลำไส้
- กรดไหลย้อน / หลอดอาหารอักเสบ
- ติ่งเนื้อ
- เนื้องอก หรือมะเร็ง
- การติดเชื้อ หรืออักเสบอื่นๆ
ข้อดีของการส่องกล้อง:
- ตรวจแม่นยำกว่าการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวด์
- ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บ ปลอดภัย
โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ยิ่งตรวจพบเร็ง การรักษาก็ยิ่งได้ผลดี และช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมะเร็งที่ตรวจพบช้า