รับมือกับโรคลมชักได้ ถ้ารู้วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

เคยไหม…อยู่ดีๆ คนข้างๆ ก็ล้มลงกับพื้น ตัวเกร็ง กระตุก จนคนรอบข้างตกใจทำอะไรไม่ถูก? เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน บนรถโดยสาร ที่ทำงาน หรือแม้แต่ที่บ้านของเราเอง เพราะ โรคลมชัก ไม่ได้เลือกเวลา สถานที่ หรืออายุของผู้ป่วย แต่อาการที่เกิดขึ้นมักจะดูรุนแรงจนทำให้หลายคนตื่นตระหนก การรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้ เพราะบางครั้ง…ความช่วยเล็กๆ จากคนรอบข้าง อาจเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง
สาเหตุของโรคลมชัก
โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากความผิดปกติของการทำงานในสมองส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยแสดงอาการชักแบบต่างๆ ทั้งแบบเกร็ง กระตุก หมดสติ หรือมีอาการแปลกๆ ชั่วขณะ
สาเหตุของลมชัก อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- กรรมพันธุ์ หรือมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว
- สมองได้รับบาดเจ็บ เช่น จากอุบัติเหตุ หรือการคลอด
- เนื้องอกในสมอง
- เส้นเลือดในสมองผิดปกติ
- ไข้สูงในเด็กเล็ก จนกระตุ้นให้เกิดอาการชัก
- การติดเชื้อในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- การเลิกยา/แอลกอฮอล์กะทันหัน หรือการใช้สารเสพติด
- ความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโซเดียมต่ำ
บางรายไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ (เรียกว่า idiopathic epilepsy) แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาและการรักษาต่อเนื่อง
อาการเตือนก่อนชัก
บางคนอาจมีสัญญาณเตือนก่อนจะชัก เช่น
- เห็นภาพซ้อน หรือแสงวูบวาบ
- คลื่นไส้ วิงเวียน
- รู้สึกแปลกๆ เหมือนกำลังจะเป็นลม
การรู้สัญญาณเตือนนี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหาที่นั่งหรือนอนในที่ปลอดภัยได้ทันเวลา
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลมชัก
- ลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ
- ผู้ป่วยไม่ได้กลืนลิ้นตัวเอง
- ไม่ควรจับแขนขาให้หยุดกระตุก
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้มีอาการชัก
- ตั้งสติ อย่าตกใจ พยายามตั้งสติให้ดี และดูแลให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เช่น ห่างจากของแข็ง ขอบโต๊ะ หรือพื้นที่ต่างระดับ
- จัดท่านอนตะแคง ช่วยพยุงผู้ป่วยให้นอนท่าตะแคงข้าง เพื่อป้องกันการสักลักน้ำลาย หรือน้ำในปาก
- ห้ามงัดปาก อย่าพยายามนำสิ่งใดเข้าปาก เช่น ช้อน ไม้ หรือมือ เพื่อกันการกัดลิ้น เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือหายใจไม่ออกได้
- คลายเสื้อผ้า ปลดกระดุม หรือคลายเสื้อผ้าโดยรอบคอ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ่น
- เฝ้าดูอาการ ส่วนใหญ่อาการชักจะหยุดได้เองภายใน 2-3 นาที ไม่จำเป็นต้องพยายามหยุดการชักโดยใช้แรงกด หรือจับตัว
- นำส่งโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยหยุดชักแล้ว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการโดยแพทย์
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือครอบครัว
- พกบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรคลมชัก
- แจ้งครอบครัว/โรงเรียน/ที่ทำงานให้ทราบว่าตนเป็นโรคนี้
- กินยาอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น นอนดึก เครียด หรือแสงกระพริบ
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
- ชักนานเกิน 5 นาที
- ชักซ้ำติดๆ กัน
- หลักชักยังไม่รู้สึกตัว
- ชักครั้งแรกในชีวิต
โรคลมชักเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ โดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ การที่เรามีความรู้เรื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน และอาจช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งไว้ได้
จำไว้เพียงแค่ ตั้งสติ – ไม่งัด – ไม่ง้าง – ไม่ถ่าง — ไม่กด ก็เพียงพอแล้วที่จะรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้อย่างมั่นใจ
หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคลมชัก หรือมีอาการชักเกิดขึ้นบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่าลังเลที่จะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการดูแลที่เหมาะสม