ลำไส้อักเสบ โรคที่มากับพฤติกรรมการกิน

ในแต่ละวัน เราอาจเผลอมองข้ามความสำคัญของความสะอาด ในอาหารที่รับประทาน ทั้งจากร้านค้าแผงลอย อาหารปรุงสำเร็จ หรือแม้แต่การหยิบจับอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาด สิ่งเล็กๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นสาเหตุของโรคที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะ “โรคลำไส้อักเสบ” ที่มักแอบแฝงมาในชีวิตประจำวัน
โรคนี้อาจเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อย เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือคลื่นไส้ แต่หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การสังเกตอาการ และการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โรคลำไส้อักเสบคืออะไร?
โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) คือภาวะที่ลำไส้มีการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิที่เข้าสู่ร่างกายผ่านอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อน รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือแม้แต่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติจนทำให้เกิดภาวะอักเสบของลำไส้
สาเหตุที่พบบ่อยของลำไส้อักเสบ
- การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือเก็บไว้นานโดยไม่มีการแช่เย็น อาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella), อีโคไล (E. coli), โรต้าไวรัส ฯลฯ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุลำไส้อักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และปวดเกร็งในช่องท้อง
- อาหารที่ไม่สุก หรือปรุงไม่สะอาด
การรับประทานเนื้อสัตว์หรือไข่ที่ไม่สุกดี เช่น กึ่งดิบกึ่งสุก หรืออาหารทะเลที่ปนเปื้อน อาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในวัตถุดิบเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง รวมถึงการปรุงอาหารโดยไม่ล้างวัตถุดิบให้สะอาด หรือใช้น้ำที่ปนเปื้อนในการปรุงอาหาร
- การใช้ภาชนะหรือมือที่ไม่สะอาดในการหยิบจับอาหาร
มื้อที่เปื้อนสิ่งสกปรก หรือภาชนะที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดเพียงพออาจนำไปสู่เชื้อโรคเข้าสู่อาหารโดยไม่รู้ตัว การหยิบจับอาหารโดยไม่ล้างมือ รวมถึงการใช้มีด หรือเขียงเดียวกันในการหั่นอาหารดิบและอาหารสุก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อในลำไส้ได้ง่าย เพราะร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ดีเท่าคนทั่วไป
- การใช้งานบางชนิดต่อเนื่อง
โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ซึ่งแม้จะรักษาการติดเชื้อได้ดี แต่หากใช้ติดต่อกันนานหรือใช้โดยไม่จำเป็น อาจทำลายแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ทำให่เสียสมดุลจุลินทรีย์ (gut microbiome imbalance) ส่งผลให้ลำไส้อ่อนแอและไวต่อการติดเชื้อขึ้น
สัญญาณเตือนสำคัญของโรค
หากคุณมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
- ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
- ปวดท้อง ปวดเกร็ง
- มีไข้ หนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- น้ำหนักลด หรือขาดน้ำ
ป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้อย่างไร
การป้องกันโรคลำไส้อักเสบสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใส่ใจสุขอนามัย
- ล้างมือให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนหรืออาหารดิบ
- ดื่มน้ำสะอาด หรือใช้น้ำต้มสุก น้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน
- แยกภาชนะอาหารดิบ/สุก ไม่ใช้เขียงหรือมีดชุดเดียวกัน
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี
โรคลำไส้อักเสบไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การรู้เท่าทัน สาเหตุ และแรวทางการป้องกันจะช่วยลดความเสี่ยง และทำให้เราสามารถดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้อย่างมั่นใจ
หากมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัย อย่ารอช้า ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง