"ผื่นกุหลาบ" โรคหน้าฝนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ความชื้นในอาการมักจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้โรคผิวหนังบางชนิดเกิดขึ้น หนึ่งในโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงนี้คือ “ผื่นกุหลาบ” (Pityriasis Rosea) แม้จะเป็นโรคที่ไม่อันตรายร้ายแรงและมักหายได้เอง แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ดังนั้นหากพบว่ามีผื่นผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ
ลักษณะของผื่นกุหลาบ
- ผื่นมีลักษณะเป็นวงรี สีชมพูหรือสีน้ำตาลอ่อน
- ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยจุดเริ่มต้นมักมีลักษณะเป็น ผื่นแม่ อยู่ก่อน จากนั้นจึงกระจายออกเป็น ผื่นลูก ตามแนวผิวหนัง
- ผื่นอาจพบได้บริเวณ ลำตัว ต้นคอ แขน หรือขาส่วนบน
- ลักษณะผื่นมักเป็นวงกลม หรือวงรี มีขุยเล็กๆ ตรงกลาง
- อาจมีอาการคันเล็กน้อยถึงปานกลาง
สาเหตุของผื่นกุหลาบ
แม้สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบแน่นอน แต่นักวิจัยเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ติดต่อจากคนสู่คน และมักหายได้เองภายใน 6-8 สัปดาห์
ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
ในหญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไป โรคนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่ในบางกรณีที่เป็นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้งบุตร ดังนั้น หากพบผื่นผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
การดูแลและรักษา
- โรคนี้มักหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
- หากมีอาการคัน แพทย์อาจให้ยาแก้คัน หรือครีมบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการเกาแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศ และหลีกเลี่ยงความร้อน หรือเหงื่อสะสม
แม้ผื่นกุหลายจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ๋ ควรระมัดระวังและสังเกตอาการของผื่นอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์