Bangpakok Hospital

6 สารก่อภูมิแพ้ ยอดฮิตของคนไทย

12 พ.ค. 2568

โรคภูมิแพ้เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน หรือหอบหืด ล้วนมีสาเหตุจากสารก่อภูมิแพ้รอบตัว ที่บางครั้งเราอาจไม่ทันสังเกต บางชนิดแฝงตัวอยู่ใรบ้าน ในอาหาร หรือในอากาศ การรู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการควบคุมอาการ และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ


  1. ไรฝุ่น ตัวการอันดับหนึ่งของโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหอบหืด ไรฝุ่นเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในห้องนอน หมอน ผ้าห่ม พรม หรือเฟอร์นิเจอร์บุผ้า

วิธีป้องกัน

  • ใช้ปลอกหมอน และที่นอนชนิดกันไรฝุ่น
  • ซักเครื่องนอนเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงพรม เฟอร์นิเจอร์ผ้า หรือของตกแต่งที่สะสมฝุ่นได้
  • ทำความสะอาดห้องนอน และเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ

  1. แมลงสาบ สารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบพบได้ในมูลแมลงสาบ เศษซาก หรือแม้กระทั่งน้ำลายของพวกมัน

วิธีป้องกัน

  • หมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะมุมอับและพื้นครัว
  • ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด และกำจัดเศษอาหารทันที
  • อุดรอยรั่ว และรูโหว่ เพื่อป้องกันแมลงสาบเข้า
  • ใช้กับดักแมลงสาบ หรือสารเคมีอย่างระมัดระวัง

  1. ละอองเกสรดอกไม้ แม้เมืองไทยจะไม่มีฤดูเกสรดอกไม้ชัดเจนเหมือนต่างประเทศ แต่บางพื้นที่ เช่น ช่วงดอกหญ้าแพร่พันธุ์ หรือมีต้นไม้สวนเยอะ ก็มีปริมาณละอองเกสรสูง

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านช่วงเช้า ซึ่งมักมีเกสรฟุ้งกระจาย
  • ปิดประตู หน้าต่างให้สนิท และเปิดเครื่องฟอกอากาศ
  • สวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องทำสวนหรือตัดหญ้า
  • ล้างหน้า ล้างตา เปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อกลับจากนอกบ้าน

  1. ขนสัตว์ แม้จะเข้าใจผิดกันว่า ขน เป็นสาเหตุแพ้ แต่ที่แท้จริงแล้วโปรตีนในน้ำลาย รังแค และผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ต่างหากที่เป็นตัวกระตุ้นอาการแพ้

วิธีป้องกัน 

  • หมั่นอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง และแปรงขนบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงขึ้นเตียง หรือโซฟา
  • ตั้งโซนเฉพาะสัตว์เลี้ยง ไม่ให้เข้าห้องนอน
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศ และทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ
  1. ควันบุหรี่ / ควันธูป ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้โดยตรง แต่ควันบุหรี่และควันธูป เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันไว และทำให้อาการภูมิแพ้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

วิธีป้องกัน

  • ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือใกล้ผู้ที่เป็นภูมิแพ้
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการเผาควันธูป หรือจุดไฟ
  • ระบายอากาศบ้านให้ดี
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองคาร์บอน


  1. อาหารทะเล ในบางราย การแพ้อาหารทะเลไม่ใช่แค่ผื่นคัน หรือแน่นจมูก แต่อาจรุนแรงถึงขั้น ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ได้

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่เคยแพ้ และอ่านฉลากอาหารสำเร็จรูปอย่างชัดเจน
  • ระวังการปนเปื้อน เช่น ใช้ภาชนะเดียวกับอาหารทะเล
  • พกยาแก้แพ้
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ 

การป้องกันภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือการรู้จักหลีกเลี่ยงตัวการกระตุ้นเหล่านี้ พร้อมดูแลบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หากมีอาการแพ้บ่อย ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.