Bangpakok Hospital

สำลักอาหาร ช่วยอย่างไรให้ปลอดภัย

25 เม.ย. 2568

เคยไหม? กำลังทานอาหารอยู่ดีๆ แล้วอยู่ๆ ก็ไอไม่หยุด พูดไม่ได้ หายใจไม่ออก… นั่นอาจเป็นสัญญาณของ “การสำลักอาหาร” ซึ่งหากไม่รีบช่วยเหลืออย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ภาวะขาดอากาศและอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที สิ่งสำคัญคือ เราทุกคนสามารถเป็น “ผู้ช่วยชีวิต” ได้ หากรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตัวเองตอนอยู่คนเดียว หรือช่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่กำลังมีอาการลำสัก การเรียนรู้วิธีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความมั่นใจ แต่ยังอาจเป็นโอกาสสำคัญในการช่วยรักษาชีวิตของใครบางคนไว้ได้


การสำลัก คืออะไร

การสำลัก (Choking) คือภาวะที่สิ่งแปลกปลอม เช่น อาหาร หรือของชิ้นเล็ก ไปอุดทางเดินหายใจทำให้หายใจไม่ออก และอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

 

สัญญาณว่ามีคนกำลังสำลักอาหาร

  • ไอแรง หรือไอเงียบโดยไม่มีเสียง
  • ไม่สามารถพูดหรือร้องได้
  • กุมคอตัวเอง (สัญญาณช่วยเหลืออัตโนมัติ)
  • หายใจติดขัด
  • สีหน้าซีด หรือเขียวคล้ำ
  • หมดสติในไม่กี่นาที หากไม่ได้รับออกซิเจน

สาเหตุของการสำลัก

  • เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
  • หัวเพราะ พูด หรือรีบรับประทานอาหาร
  • เด็กเล็กเล่นของเล่นชิ้นเล็ก
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน

 

ลำสักอาหารช่วยอย่างไรให้รอด

  • กรณีอยู่คนเดียว
  1. ตั้งสติ พยายามไอแรงๆ หรือจิบน้ำเล็กน้อย
  2. โน้มตัว บนวัตถุที่แข็งและโค้งมน เช่น พนักเก้าอี้ หรือขอบโต๊ะ โดยให้จุดที่อยู่ระหว่างลิ้นปี่และสะดือสัมผัสวัตถุนั้น
  3. กระแทกตัวลงแรงๆ เพื่อดันแรงดันในช่องท้องให้ดันอาหารออก

  • สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 1 ปี)
  1. อุ้มคว่ำพาดแขน ให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว มือประคองศีรษะ
  2. ใช้ฝ่ามือตบหลัง 5 ครั้ง บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะบักหลัง
  3. หงายตัวเด็ก ใช้นิ้ว 2 นิ้วกดหน้าอก 5 ครั้ง ที่บริเวณใต้หัวนมตรงกลางอก (กึ่งกลางหน้าอก)
  4. ทำสลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าอาหารจะหลุด
  5. หากเห็นอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมในปาก ให้ล้วงออกด้วยความระมัดระวัง

  • สำหรับเด็กโต (มากกว่า 1 ปี)
  1. ยืนหรือคุกเข่าด้านหลังเด็ก
  2. ใช้แขนโอบรอบเอวเด็ก
  3. มือซ้ายกำหมัด วางเหนือสะดือ ใต้กระดูกลิ้นปี่ มือขวากำรอบหมัดซ้าย
  4. ดันขึ้นและเข้าแรงๆ (Heimlich Maneuver) หลายครั้งจนกว่าอาหารจะหลุด

  • สำหรับผู้ใหญ่
  1. ผู้ช่วยเหลือ ยืนด้านหลังผู้สำลัก
  2. โอบเอวผู้ประสบเหตุ งอตัวไปด้านหลังเล็กน้อย
  3. มือซ้ายกำหมัด วางเหนือสะดือ ใต้ลิ้นปี่ มือขวากำรอบหมัดซ้าย
  4. กระชากเข้าหาตัวแรงๆ และขึ้นบนหลายครั้งจนกว่าอาหารจะหลุด

 

สิ่งที่ห้ามทำ

  • ห้ามดื่มน้ำเมื่อสำลัก เพราะอาจดันสิ่งอุดตันให้ลึกลง
  • ห้ามตบหลังหากยังไอได้ เพราะอาจทำให้อาหารลงลึก
  • ห้ามใช้มือ หรือนิ้วล้วงในปาก หากมองไม่เห็นวัตถุชัดเจน
  • ห้ามปล่อยให้ผู้ประสบเหตุอยู่ลำพัง



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.