Bangpakok Hospital

รู้ไว้ใช่ว่า อวัยวะในร่างกายกลัวอะไรบ้าง

23 เม.ย. 2568

ในทุกๆ วันที่ร่างกายของเราทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก ไม่ว่าจะเป็นหัวใจที่เต้นตลอดเวลา ปอดที่หายใจเข้าออก สมองที่ประมวลผลข้อมูล หรือระบบย่อยอาหารที่ต้องจัดการสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น อวัยวะสำคัญ ที่เปรียบเสมือนเครื่องจักรชีวิตที่เราพึ่งพาอยู่ตลอดเวลา แต่รู้หรือไม่ว่า อวัยวะแต่ละส่วน มีสิ่งที่กลัว และสิ่งเหล่านี้อาจมาจากพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัว เช่น การกินเค็มจัด ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สายตากับหน้าจอนานๆ หรือแม้แต่การไม่กินอาหารเช้าเลย การเข้าใจว่าอวัยวะใดบอบบางกับอะไร คือกุญแจสำคัญในการป้องกันโรค และยืดอายุการทำงานของร่างกายให้นานที่สุด เพราะเมื่อเรารู้จักดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี เราก็สามารถลดความเสี่ยงของโรคร้าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 อวัยวะในร่างกายกลัวอะไรบ้าง

 

  1. สมอง กลัวการอดอาหารเช้า

สมองต้องการกลูโคสเป็นพลังงานหลัก การงดอาหารเช้าทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ เสี่ยงต่ออาการมึนงง ขาดสมาธิ และในระยะยาวอาจกระทบต่อความจำ

  1. ปอด กลัวฝุ่นละออง/ควัน

ฝุ่นควันจากมลพิษ หรือบุหรี่ มีอนุภาคเล็กที่สามารถเข้าสู่ถุงลมในปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือโรคร้ายแรงอย่างถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอดได้

  1. ตับ กลัวของทอด/ของมัน

การกินอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ ทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ ตับอักเสบ และอาจนำไปสู่โรคตับเรื้อรังหรือตับแข็งได้ในอนาคต

  1. ตับอ่อน กลัวการดื่มหนัก

แอลกอฮอล์เป็นตัวการที่ทำลายตับอ่อนโดยตรง ส่งผลให้เกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือตับอ่อนเสื่อม และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

  1. กระเพาะอาหาร กลัวกินอาหารไม่ตรงเวลา

การกินอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้กระเพาะหลั่งกรดผิดจังหวัด เสี่ยงต่อการระคายเคือง แสบท้อง และในระยะยาวอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

  1. ไต กลัวยาและอาหารเสริม

ยาบางชนิดและอาหารเสริมที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีสารตกค้าง หรือสารที่ต้องขับออกทางไตมากเกินไป ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จนนำไปสู่ภาวะไตเสื่อม หรือไตวาย

  1. หัวใจ กลัวเค็ม

การกินเค็มหรือโซเดียมสูงไป จะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ และหัวใจล้มเหลว

  1. ลำไส้ กลัวอาหารขับถ่ายยาก

เพราะลำไส้ของเราทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารและกำจัดของเสีย ถ้าเจออาหารที่ย่อยยาก ไฟเบอร์น้อย หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป จะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง ขับถ่ายลำบาก ของเสียตกค้าง เกิดแก๊ส ท้องอืด หรือแม้แต่ท้องผูกเรื้อรังได้ในระยะยาว


 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.