Bangpakok Hospital

ลูกชอบกัด ปัญหาทางอารมณ์ของเด็ก

16 ส.ค. 2566



การชอบกัดคนอื่น เป็นพฤติกรรมที่พบได้ในเด็กช่วงวัย 1-3 ปี โดยทั่วไปพฤติกรรมชอบกัดของเด็กเล็ก มักมีสาเหตุมาจากพัฒนาการทางร่างกาย เช่น คันเหงือก เพราะฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ผ้าสะอาดที่มีความเย็นเล็กน้อยให้ลูกกัด เพื่อช่วยลดอาการคันเหงือกได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้นพฤติกรรมการกัดยังไม่หายไป หรือใช้การกัดเพื่อแสดงอารมณ์ เช่น โกรธ ต้องการความสนใจ หรือเมื่อรู้สึกกลัว นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณจะต้องรู้วิธีรับมือและแก้ปัญหาลูกชอบกัดก่อนสายเกินไป

วิธีรับมือและแก้ปัญหาเมื่อลูกชอบกัด

  1. ตั้งกฏให้ชัดเจน ในช่วงวัยที่มีพฤติกรรมชอบกัดคุณพ่อคุณแม่ควรสร้างข้อตกลงว่า อะไรที่ลูกควรกัดหรือห้ามกัดอย่างเด็ดขาด รวมถึงแนะนำสิ่งที่ลูกควรทำ เช่น เมื่อรู้สึกคันเหงือกให้ลูกลองเอาผ้าขนหนูมาเช็ดที่เหงือก หรือกัดได้เฉพาะของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เลือกแล้วว่าปลอดภัยที่จะนำเข้าปากเท่านั้น และสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อลูกเผลอกัดสิ่งของหรือทำให้คนอื่นเจ็บตัว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้การลงโทษที่รุนแรงต่อร่างกายและจิตใจลูกเพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและก้าวร้าวได้ คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดลูกด้วยคำพูดที่เรียบง่ายแต่จริงจังและเด็ดขาดเพื่อให้ลูกเข้าใจการกัดที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนนั้นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
  1. หาสาเหตุของการกัดให้เจอ เพราะพฤติกรรมชอบกัดนั้นอาจมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งหากเป็นเรื่องจิตใจแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อช่วยลูกแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น ลูกติดการกัดสิ่งของเมื่อรู้สึกเครียด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือช่วยลดความเครียดให้ลูกด้วยการพูดคุยและช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ลูกกังวลใจหรือพาไปทำกิจกรรมเพื่อคลายความเครียด ถ้าลูกใช้การกัดเพื่อต่อสู้หรือป้องกันตัวเองคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียนหรือไม่ ลูกชอบแกล้งคนอื่นหรือเป็นฝ่ายถูกรังแกเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไป
  1. เสริมสร้างแรงบวกให้มากขึ้น เมื่อลูกให้ความร่วมมือด้วยการพยายามลดพฤติกรรมการกัดให้น้อยลงหรือเลิกโดยเด็ดขาด คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชื่นชมลูกด้วยความจริงใจเพราะการชื่นชมเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่ส่งเสริมให้ลูกรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วจะได้รับคำชมหรือทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ เช่น เมื่อลูกโกรธเพื่อน แต่ไม่แสดงออกด้วยการกัดเหมือนที่เคยทำคุณพ่อคุณแม่อาจให้คำชมว่า “วันนี้ลูกเก่งและควบคุมอารมณ์ได้ดี”
  1. สอนวิธีการแสดงออกที่ถูกต้อง พฤติกรรมการกัดที่เกิดจากภาวะทางอารมณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกยังไม่รู้ว่าควรจะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้รู้วิธีแสดงออกหรือรับมือกับอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อลูกรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจเพื่อน ลองพูดกับเพื่อนดีๆ ว่า “ไม่ชอบทำแบบนี้” โดยไม่ต้องใช้การกัดหรือความรุนแรงในการตอบโต้ 
  1. ปรึกษาคุณหมอ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เช่น พยายามอย่างไรลูกก็ยังชอบกัด หรือยิ่งห้ามลูกยิ่งมีพฤติกรรมต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังมีปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่เข้าไม่ถึงและไม่สามารถแก้ให้ตรงจุดได้ การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอจึงเป็นอีกวิธีที่ไม่ควรมองข้ามเพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่รุนแรงและแก้ไขยากมากขึ้นได้



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.