Bangpakok Hospital

ชีวิตประจำวัน กับสารเคมีใกล้ตัว

4 ก.ค. 2566

ในชีวิตประจำวันเราจะต้องเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิดซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน สารที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นสารสังเคราะห์และสารธรรมชาติโดยทั้ง 2 สารนี้ล้วนจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ใช้มากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ตามมาได้หากใช้อย่างไม่ระวัง และสงสัยกันบ้างไหมว่าในแต่ละวันของพวกเรารับสารเคมีอะไรเข้าสู่ร่างกายบ้าง?

รู้จักสารเคมีในชีวิตประจำวัน

สารเคมีเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราอาจมาในรูปแบบของควัน ก๊าซ ของเหลว หรือผสมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสารต่อไปนี้จะเป็นสารเคมีในชีวิตประจำวันและส่งผลต่อสุขภาพเรา

  1. คาร์บอนมอนอกไซต์ (Carbon Monoxide: CO) เป็นก๊าซไม่มีสีและไม่มีกลิ่น คนมักได้รับก๊าซชนิดนี้จากการเผาไหม้ของน้ำมันหรือเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ไอเสียรถยนต์ เครื่องยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ

คาร์บอนมอนอกไซต์มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมเนื่องจากมีสถานะเป็นก๊าซ หากสูดดมมากส่งผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสนมึนงง และหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปในครั้งเดียวอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และเสียชีวิตได้

  1. แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารเคมีในชีวิตประจำวันและเป็นส่วนผสมในของใช้หรือผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ แอมโอมเนียเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและมีกลิ่นฉุน

การสูดดมหรือสัมผัสโดนผิวหนังอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง และแสบจมูกเมื่อสูดดม หากสัมผัสกับแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ อย่างจมูก ปาก ลำคอ ปอด ส่งผลให้คอบวม ไอ น้ำท่วมปอด หากสัมผัสโดนผิวหนังและดวงตาอาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นแผลพุพอง ตาบอด และหากสูดดมปริมาณมากหรือรับประทานอาจทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายเสียหายและเสียชีวิตได้

บางกรณีแอมโมเนียความเข้มข้นต่ำก็ถูกนำมาใช้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ เนื่องจากการสูดดมแอมโมเนียในปริมาณเล็กน้อยจะทำให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งกระตุ้นการทำงานของระบบการหายใจ

  1. คลอรีน (Chlorine) หลายคนอาจนึกถึงสารคลอรีนเมื่อเห็นสระว่ายน้ำสีฟ้า แต่จริงๆ แล้วคลอรีนเป็นสารทำความสะอาดประเภทหนึ่งเดิมทีอยู่ในรูปของก๊าซที่มีความเป็นพิษสูง แต่ก็พบในรูปของเหลวได้เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบที่พบได้ในชีวิตประจำวันได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำ น้ำยาทำความสะอาด สารฟอกขาว และน้ำยาทำละลาย การผลิตน้ำดื่มก็มีการใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในปริมาณที่ต่ำและไม่ส่งผลต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การสัมผัสกับคลอรีนที่มีความเข้มข้นสูงไม่ว่าในรูปแบบใดก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ผิวหนังอาจเกิดอาการแสบร้อน มีแผลพุพอง ตาพร่า แสบตา แสบจมูกและลำคอ ไอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่รุนแรงอาจสูญเสียการมองเห็นหรือเสียชีวิต

  1. กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric Acid) เป็นอีกสารเคมีที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน มีลักษณะเป็นของเหลวที่ข้นหนืด อาจมีสีใสหรือสีเหลือง และพบได้ในรูปแบบก๊าซเช่นกัน มักเป็นส่วนประกอบในผงซักฝอก น้ำยาซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องเคลือบ น้ำยาสำหรับว่ายน้ำ และปุ๋ย

กรดชนิดนี้เป็นพิษและมีฤทธิ์กัดกร่อน หากผิวหนังสัมผัสโดนกรดไฮโดรคลอริกในระดับที่เข้มข้นจะทำให้เกิดแผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อน เมื่อสัมผัสถูกดวงตาอาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบและตาบอด และหากรับประทานจะมีอาการแสบร้อนในลำคอ ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ช็อก และเสียชีวิต อีกทั้งหากมีการสูดดมอาจทำให้เกิดอาการไอ ไอเป็นเลือด สำลัก แน่นหน้าอก เวียนหัว หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตได้

  1. กรดกำมะถัน หรือกรดซัลฟูริก (Sulfuric Acid)  พบได้ทั้งรูปแบบของเหลวที่ข้นหนืดคล้ายน้ำมัน ก๊าซ และของแข็ง สารเคมีในชีวิตประจำวันชนิดนี้มีปฎิกิริยาทางเคมีที่รุนแรงเมื่อสัมผัสกับน้ำและมีฤทธิ์กัดกร่อนเป็นอันตราย กรดกำมะถันพบได้ในแบตเตอรี่รถยนต์ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ และปุ๋ยบางชนิด

คนส่วนใหญ่อาจได้รับกรดกำมะถันผ่านการสูดดมและการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูกและลำคออย่างรุนแรง เยื่อบุตาอักเสบ ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากกรดที่มีความเข้มข้นสูงสัมผัสดวงตาโดยตรงอาจทำให้ตาบอดได้

 

วิธีป้องกัน

  • อ่านวิธีใช้บนฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำเสมอโดยเฉพาะข้อควรระวังและวิธีปฐมพยาบาล
  • เก็บอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีไว้ในที่ที่เหมาะสม ห่างจากแสง ความร้อน ความชื้น และเก็บให้พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันเช่น หน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือ หรือชุดป้องกันทุกครั้งที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ
  • หากผิวหนังหรือดวงตาสัมผัสกับสารเคมี ควรล้างน้ำสะอาดต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที และไปพบแพทย์ทันที
  • หากสูดดมสารเคมีหรืออยู่ในบริเวณที่มีก๊าซเคมีรั่วไหล ควรไปในที่ที่มีอากาศถ่ายเทและไม่ปนสารเคมี ถ้าเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากรับประทานสารเคมีเข้าไป ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลทันที ระหว่างนั้นห้ามล้วงคอหรือทำให้อาเจียนเพราะอาการอาจรุนแรงขึ้น หากผู้ประสบเหตุยังมีสติ อาจให้ดื่มน้ำหรือนมเพื่อชะลอการดูดซึมพิษจากสารเคมี

 
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.