Bangpakok Hospital

6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย

18 พ.ค. 2565


คุณแม่มักกังวลใจทุกครั้งเมื่อลูกป่วย โดยเฉพาะอาการท้องเสียที่พบในทารก ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบว่าคุณแม่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาวะท้องเสียกับลักษณะอุจจาระนิ่มจากที่ทารกกินนมแม่ได้

คุณแม่ต้องอาศัยการสังเกตและจดจำลักษณะของอุจจาระปกติของลูก ถ้าลูกถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะแตกต่างจากเดิม เช่น อุจจาระเหลวเป็นน้ำ และถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน จึงนับเป็นอาการท้องเสีย

ดังนั้นคุณแม่ควรเรียนรู้ว่า ลูกท้องเสียมีสาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลเบื้องต้นอย่างไร และรู้จักสัญญาณเตือนที่ควรพบแพทย์ 

สาเหตุที่ทำให้ท้องเสีย

อาการท้องเสียมักมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพ้โปรตีนนมวัว เมื่อลูกท้องเสียนำไปสู่การสูญเสียน้ัำและเกลือแร่ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ในกรณีที่ท้องเสียรุนแรงจะทำให้อ่อนเพลียร้องกวนมากขึ้นซึมลง ปัสสาวะออกน้อย ทำให้จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล


อาการท้องเสีย

  • ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้ง/วัน ขึ้นไป
  • ปวดท้อง งอแง ซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม หรือกินอาหารได้น้อยลง
  • ถ่ายเหลว มีน้ำออกมามาก หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่า
  • อาจมีไข้และอาเจียน โดยเฉพาะท้องเสียที่เกิดจากไวรัสโรต้าจะมีอาการอาเจียนอย่างหนัก

หากมีอาการดังนี้ ควรรีบพบแพทย์

  • ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้ง/วัน
  • มีไข้สูงหรือชัก อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง ตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋ม หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ
  • ไม่กินนมและอาหาร หรือดื่มน้ำเกลือแร่แล้วยังเพลียหรือซึมอยู่
  • ปัสสาวะน้อยมีสีเข้ม

6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย

  • สำหรับเด็กที่ยังดื่มนมแม่อยู่ สามารถดื่มนมแม่ได้ตามปกติเพราะนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรงสู้เชื้อโรคได้
  • หากดื่มนมผสมให้ชงนมสัดส่วนเท่าเดิม เพิ่มจำนวนมื้อนมให้ถี่ขึ้น แต่ปริมาณดื่มแต่ละมื้อน้อยลงเพื่อให้ลูกยังได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
  • เด็กที่ดื่มนมผสม หากอาการถ่ายไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน อาจเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโตส เนื่องจากช่วงท้องเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนที่ผลิตเอ็นไซม์แลคเตสจะถูกทำลาย โดยให้ดื่มต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากร่างกายสร้างเซลล์เยื่อบุลำไส้ขึ้นใหม่ทดแทนแล้วค่อยกลับมาดื่มนมปกติ
  • เด็กที่เริ่มรับประทานอาหารบางมื้อแล้ว ควรให้ทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย โดยแต่ละมื้อควรป้อนทีละน้อยเพื่อให้ลำไส้ลูกค่อยๆ ย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ควรงดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก
  • จิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป
  • ไม่ควรให้เด็กกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้

วิธีป้องกัน

  • คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และต่อเนื่องให้นานที่สุด เพราะนมแม่ปลอดภัยและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆให้ลูกได้
  • ควรทำความสะอาดขวดนม จุกนม และของใช้ลูกทุกชนิดให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดหรือสะสมอยู่
  • ควรทำอาหารแบบปรุงสุกใหม่ ไม่ควรให้ลูกกินอาหารค้างคืนหรือแช่เย็น
  • ควรล้างมือลูกให้สะอาดเสมอ เช่น ก่อนกินข้าว หลังเข้าห้องน้ำ และควรสอนลูกล้างมือ ดูแลความสะอาดด้วยตัวเอง
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.