Bangpakok Hospital

วิธีรับมืออาการท้องผูก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้

13 มิ.ย. 2565



อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์เกือบทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอายุครรภ์มากขึ้นจะทำให้มีอาการท้องผูกได้ง่าย หากคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วเกิดอาการท้องผูกจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ยิ่งหากเป็นช่วงที่อายุครรภ์เยอะก็จะยิ่งรู้สึกอึดอัดมากขึ้นกว่าเดิม

เนื่องจากมดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้นไปกดทับลำไส้ใหญ่ทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ รวมถึงผลของการเปลี่นนแปลงของฮอร์โมน จึงทำให้การทำงานของลำไส้มีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ท้องผูกขับถ่ายได้ลำบากขึ้น 

ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบถึงสาเหตุและวิธีการช่วยบรรเทาอาการเพื่อการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย

ท้องผูกขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่?

อาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่บางครั้งอาการท้องผูกก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้หากมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องผูกสลับท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด

นอกจากนี้การขับถ่ายที่ลำบากมากขึ้นจากอาการท้องผูกยังอาจทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก อาจมีเลือดออก และทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนักได้ แต่ส่วนใหญ่จะดีขึ้นและหายได้เองหลังคลอดบุตร แต่หากอาการเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้นหรือมีเลือดออกบริเวณทวารหนักมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกในครรภ์

วิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการท้องผูก

อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นอาจบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการรับประทานเช่นเดียวกับอาการท้องผูกในคนทั่วไป สามารถทำได้ดังนี้

- รับประทารอาหารที่มีไฟเบอร์มากขึ้น การเพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารในมื้ออาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายและช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น ควรรับประทานไฟเบอร์ที่มาจากผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 25-30 กรัมต่อวัน เช่น ลูกพรุน ฝรั่ง ผักโขม อัลมอนด์

- ดื่มน้ำให้มาก การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้ไฟเบอร์ทำงานได้มากขึ้นและส่งผลดีต่อการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และยังช่วยให้คุณแม่ได้รับน้ำเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอีกด้วย เพราะร่างกายคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ต้องการของเหลวมากขึ้น เพื่อช่วยในการไหลเวียนโลหิตของตัวแม่เองและลูกในครรภ์

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ที่ออกกำลังกายน้อยจะยิ่งเสี่ยงต่ออาการท้องผูกได้ ดังนั้นแม้จะตั้งครรภ์ก็ควรหมั่นออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ โยคะ หรือออกกำลังกายตามความเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบลำไส้

- ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้อาหารเสริมธาตุเหล็ก เนื่องจากการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องผูกได้ในคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกมาก การปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณยาธาตุเหล็ก และเน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้

- เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ว่าโพรไบโอติกส์ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย ซึ่งอาจช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และอาการปอดท้องด้วยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

- ใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หากท้องผูกยังไม่บรรเทาด้วยวิธีการต่างๆข้างต้น คุณแม่อาจใช้ยาบางชนิดที่มีขายตามทั่วไปตามร้านขายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เช่น ผงไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการทำงานของระบบสำไส้และทำให้อาการท้องผูกลดลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.