Bangpakok Hospital

รู้ทันประเภทของโรคหัวใจ เพื่อดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธี

10 มิ.ย. 2565



โรคหัวใจ คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค ซึ่งปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

ดังนั้นควรทำความรู้จักกับโรคหัวใจแต่ละประเภท รู้ให้เท่าทันเพื่อรับมือได้อย่างถูกวิธี และโรคหัวใจอาจรักษาได้ทันหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา 

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลว / หัวใจอ่อนกำลัง 

ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่า หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่หัวใจอ่อนแอหรืออ่อนกำลังลง ทำให้การทำสิ่งต่างๆ ซึ่งปกติเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่ก็ยังมีวิธีต่างๆที่ผู้ป่วยและแพทย์จะร่วมมือกันเพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น

อาการ

- อาการหายใจเหนื่อย เป็นอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลวโดยอาจมีอาการเหนื่อยในขณะที่ออกแรง อาการเหนื่อยหายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ บางครั้งมีอาการไอในขณะนอนราบด้วย หรือในขณะนอนหลับต้องตื่นขึ้นเนื่องจากมีอาการหัวใจไม่สะดวก ซึ่งเป็นอาการจำเพาะสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว

- อ่อนเพลีย เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายลดลง ทำให้ความสามารถในการทนต่อการทำกิจกรรมหรือความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของร่างกายลดลง

- มีอาการบวมจากภาวะคั่งน้ำและเกลือ เช่น ที่เท้าและขามีลักษณะบวม กดบุ๋ม มีน้ำคั่งในปอดและอวัยวะภายใน เช่น มีตับ ม้ามโต มีน้ำในช่องท้อง ทำให้มีอาการท้องบวม ท้องโตขึ้น แน่นอึดอัด

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและโรคสภาพความพร้อมของร่างกายผู้ป่วย โดยอาจรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดความดันโลหิต  หรือยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ที่เป็นการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจ และการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

  1. หลอดเลือดหัวใจตีบตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตีนเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือด เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้

อาการ

- เจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อง่าย จุกแน่น เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงือออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือที่เรียกว่า หัวใจพิบัติ (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเหมาะสม ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

การรักษา

วิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมมักจะใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือที่รู้จักกันว่า การทำบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้ายและเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้าย หรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือด โดยข้ามเส้นเลือดส่วนที่ตีบ กรณีแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัดส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30-40 ปี จะรักษาด้วยการทานยาอาจช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียวก็ทานยาหรือใส่ขดลวดบอลลูนได้  

  1. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือ ช้าผิดปกติเนื่องจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น การส่งกระแสลัดวงจร มีแผลเป็นหรือก้อนไขมัน ทำให้หัวใจมีจุดที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

อาการ

ใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หมดสติ หรือหัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็วของหัวใจเต้น ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งสาเหตุ อย่างไรก็ตามถ้าหัวใจบีบตัวได้ปกติโอกาสเกิดหัวใจวายก็น้อย

การรักษา

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำได้โดยการรักษาด้วยยา เริ่มด้วยยาคลายเครียดในกรณีที่จับความผิดปกติไม่ได้ แต่ถ้าพบความผิดปกติจากคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุการฝัง เครื่องมือพิเศษ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม สูบบุหรี่ ดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การรับประทานยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.