Bangpakok Hospital

6 วิธีป้องกันตัวเอง ลดความเสี่ยงโรคฝีฝักบัว

8 มิ.ย. 2565



ฝีฝักบัวเกิดจากการอักเสบของผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปและบริเวณรูขุมขน มีลักษณะเป็นก้อนหนองในรูขุมขนหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีอาการเจ็บเมื่อสัมผัสโดน เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย 

มักพบบริเวณหลัง ต้นขา รักแร้ และด้านหลังลำคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีอาการไข้และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย เมื่อตุ่มแดงยุบจะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นมากกว่าฝีทั่วไป

ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงอัตราการเกิดของโรคนี้อย่างชัด แต่พบว่าเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยและพบได้มากในเมืองร้อน

สาเหตุของฝีฝักบัว

เริ่มจากผิวหนังเกิดมีรอยถลอกบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น จากการเสียดสีการแกะหรือเกา หรือจากการที่มือสัมผัสสิ่งสกปรกต่างๆ แล้วไปสัมผัสรอยบาดเจ็บนั้นๆ เมื่อรอยบาดเจ็บเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)  หรือสเตรปโตค็อกคัส ไพโดจีนัส (Streptococcus pyogenes) เชื้อเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ผิวหนังและลุกรามกลายเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นก้อนหนองซึ่งมีหลายหัวติดๆกัน

 

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะทำให้เกิดโรคฝีฝักบัวได้ง่ายขึ้น คือ 

  1. ผู้ที่บริเวณผิวหนังบริเวณคอและหลัง มีการเสียดสีหรือเกิดแผลได้ง่าย
  2. เป็นผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ไม่รักษาสุขอนามัยตนเอง ไม่รักษาความสะอาดในการโกนขน ผม หนวด เครา
  3. ผู้ที่มีสุขภาพโดยรวมไม่ดี มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี , ผู้ป่วยเบาหวาน , โลหิตจาง , ขาดสารอาหาร , ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค , ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง , ผู้ป่วยตับเรื้อรัง
  4. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว

อาการของฝีฝักบัว

ในระยะแรกของผู้ป่วยอาจรู้สึกคันผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นจึงเกิดก้อนบวมแดงลักษณะเป็นก้อนหนองหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีขนาดประมาณ 3-10 เซนติเมตร นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยดังนี้

  1. รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสผิวหนังที่อักเสบ
  2. ผิวหนังโดยรอบฝีบวมแดง
  3. ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีไข้ หรืออ่อนเพลีย
  4. เกิดแผลเล็กๆ บนหัวหนอง แผลบางจุดอาจแห้งและตกสะเก็ดร่วมกับมีน้ำเหลืองซึมออกมา

 

ภาวะแทรกซ้อนของฝีฝักบัว

ในรายที่มีการติดเชื้อลุกลาม ฝีฝักบัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นวงกว้างได้ โดยจะส่งผลให้

  1. มีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
  2. การติดเชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ เช่น กระดูก เกิดกระดูกอักเสบ
  3. เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ เกิดเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ
  4. เชื้อดื้อยา
  5. เมื่อแผลหายมักกลายเป็นแผลเป็น

 

การป้องกันฝีฝักบัว

โดยทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดฝีฝักบัว และป้องกันเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาผิวหนังบริเวณที่มีฝีหรือแผล
  2. อาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเป็นประจำ
  3. ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ
  4. หลีกเลี่ยงการเกาแผลหรือรอยขีดข่วนตามร่างกาย โดยให้ทำความสะอาดแผลและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  5. หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าเช็คตัวร่วมกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดสิ่งของดังกล่าวด้วยน้ำร้อนเป็นประจำ
  6. รีบพบแพทย์หากพบว่าเป็นโรคผิวหนังหรือมีอาการเจ็บป่วยที่อาจก่อให้เกิดแผลตามร่างกาย

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.