Bangpakok Hospital

ภาวะมดลูกหย่อน ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

5 พ.ค. 2565



มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus) หรือมดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse) คือภาวะที่มดลูกหย่อนหรือเลื่อนหลุดลงต่ำมาอยู่ที่ช่องคลอด โดยปกติมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงมีตำแหน่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน มีรูปร่างคล้ายลูกแพร์กลับด้าน

มีกล้ามเนื้อที่ห้อยอยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวหน่าวทำหน้าที่ยึดมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ มีเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวกันยึดมดลูกให้อยู่ในอุ้งเชิงกราน

หากเนื้อเยื่อดังกล่าวไม่แข็งแรงหรือถูกทำลายจะส่งผลให้มดลูกหย่อนลงไปที่ช่องคลอด และส่วนใหญ่ผู้ที่เกิดภาวะมดลูดหย่อนมักมีอวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนลงมาด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้

ภาวะมดลูกหย่อนแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังนี้
- ระดับที่ 1 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาที่ช่องคลอดครั้งหนึ่ง
- ระดับที่ 2 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด
- ระดับที่ 3 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอด
- ระดับที่ 4 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด เรียกมดลูกย้อย (Procidentid) ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดเสื่อมสภาพ

อาการของมดลูกหย่อน
จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง ผู้ที่เกิดมดลูกหย่อนเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนผู้ที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก อาจมีอาการดังนี้

- รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกราน หรือรู้สึกมีบางอย่างโผล่ออกมาจากช่องคลอด ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด รวมทั้งรู้สึกคล้ายนั่งทับลูกบอลเล็กๆ
- มีเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมากจากช่องคลอด
- เลือดออกจากช่องคลอด
- มีตกขาวมากขึ้น
- รู้สึกไม่สบายหรือลำบากเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะได้ช้า รู้สึกปัสสาวะไม่สุดและต้องการปัสสาวะตลอดเวลา หรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลายครั้ง
- ท้องผูก
- เดินไม่สะดวก

สาเหตุของมดลูดหย่อน
- อายุมาก กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานมักเสื่อมสภาพหรือไม่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
- คลอดบุตร ผู้ที่เคยคลอดบุตร โดยเฉพาะผู้ที่คลอดลำบาก คลอดทารกหลายคนในครั้งเดียว หรือคลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่มากมักประสบภาวะมดลูกต่ำ
- เข้าวัยทอง ผู้ที่เข้าวัยทองจะสูญเสียมวลเนื้อเยื่อ รวมทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง
- น้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจากโรคอ้วนหรือมีเนื้องอกในมดลูก (Fibroids) ซึ่งไม่ใช้เนื้อร้าย หรือเกิดซีสต์ที่รังไข่ อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกถ่วงให้ตึง
- มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ผู้ที่ป่วยหรือเกิดปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณท้องมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดลมอักเสบหรือโรคหอบที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรัง ท้องผูกที่ทำให้เกร็งท้องเมื่อออกแรงเบ่ง เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน หรือเกิดการสะสมของเหลวที่ท้อง
- ผ่าตัดที่อุ้งเชิงกราน ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดรักษากระเพราะปัสสาวะ สามารถเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
- ยกของหนัก ผู้ที่ต้องยกของหนักมากๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน

การวินิจฉัย
แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยมดลูกหย่อนได้จากการสอบถามอาการผิดปกติร่วมกับการตรวจภายใน และการตรวจพิเศษจะทำการประเมินระดับความรุนแรงของภาวะดังกล่าวเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษา
1. ฝึกขมิบช่องคลอด ในกรณีที่มดลูกหย่อนคล้อยยังไม่รุนแรงมากนัก ทำได้โดยการบริการกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบช่องคลอดเป็นวิธีที่ง่ายและสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา การขมิบสามารถทำได้โดย
- เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเหมือนเวลาที่กลั้นปัสสาวะ
- เกร็งไว้เช่นนั้นและนับ 1-10 จากนั้นค่อยๆคล้ายออกช้าๆ
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง และควรทำเช่นนี้ 3 ครั้งใน 1 วัน อย่างน้อย 4 วัน/สัปดาห์

2. การใส่ห่วงพยุงช่องตลอด (Pessary) คืออุปกรณ์ที่ทำจากยางมีลักษณะเหมือนโดนัท แพทย์จะทำการใส่อุปกรณ์ชนิดนี้เช้าไปทางช่องคลอดและดันขึ้นไปข้างบนเพื่อทำให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะอยู่ในตำแหน่งเดิม วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหย่อนคล้อยได้ชั่วคราว แต่จำเป็นต้องถอดออกเพื่อทำความสะอาดเป็นประจำ และควรถอดออกก่อนการมีเพศสัมพันธ์

3. การผ่าตัด จะทำให้ผู้ป่วยบางท่านที่มีการหย่อนของช่องผนังช่องคลอดหรือมดลูก กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักค่อนข้างมาก เช่น การทำรีแพร์ การตัดมดลูก การผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด

การป้องกัน
1. ฝึกขมิบเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังคลอดบุตร
2. หลีกเลี่ยงอาการท้องผูก เนื่องจากการเบ่งอุจจาระเมื่อท้องผูกทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเกร็งไปด้วย
3. ควบคุมน้ำหนักโดยการเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกาย
4. งดสูบบุหรี่ หากท่านเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ควรหยุดทันที เพราะการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดการไอเรื้อรัง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลงได้
5. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
6. ปรึกษาแพทย์เรื่องการบำบัดโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจช่วยทำให้กล้ามเนื้อไม่อ่อนแรงและป้องกันภาวะมดลูกหย่อนคล้อยได้ อย่างไรก็ตามการใช้ฮอร์โมนทดแทนอาจมีความเสี่ยงบางประการ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับประโยนช์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
7. หลีกเลี่ยงการมีบุตรที่มากเกินไป

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.