Bangpakok Hospital

พฤติกรรมเสี่ยง มะเร็งเต้านม

30 ธ.ค. 2564



มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่พบบ่อยมากอันดับต้นๆ มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่มีการศึกษาพบว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงเป็นสารกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเซลล์เต้านม

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมีหลากหลาย ทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมแก้ไขได้และไม่ได้ การเรียนรู้พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

ดังนั้นเราสามารถป้องกันได้โดยสังเกตตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งพบเร็วโอกาสการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงก็มีมากขึ้น

อาการและสิ่งที่พบในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
1. ก้อนเนื้อในเต้านม
2. เจ็บเต้านม
3. อาการแขนบวม
4. หัวนมบุ๋มลง โดยก่อนหน้าปกติ
5. ก้อนที่รักแร้ จากต่อมน้ำเหลืองโต
6. สารคัดหลั่งจากหัวนมเป็นเลือด

พฤติกรรมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม

1. ควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม การศึกษาของสมาคมมะเร็งอเมริกันพบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 10-15 กก. ในช่วงวัยผู้ใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหลังวัยหมดประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักขึ้นไม่เกิน 10 กก. ถึง 40% นักวิจัยพบว่าการลดน้ำหนักประมาณ 10 กก. หลังจากหมดประจำเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

2. ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง ผู้หญิงที่ออกกำลังกายประจำมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งสามารถรถความเสี่ยงได้ 20-30% ด้วยการออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิค โยคะ สัปดาห์ละ 3-4 ชม.

3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้งยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง

4. เพิ่มวิตามินดี หากผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ จากการรับประทานอาหารหรือได้รับจากแสงแดด มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลดลง 50% ผู้เชี่ยวชาญแนะนำควรได้รับวิตามินดี 800-1,00 IU/วัน จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

5. ความเสี่ยงในการใช้ยาคุมกำเนิด ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มเล็กน้อย และจะลดความเสี่ยงลงหลังจากหยุดรับประทานยา และในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นก่อนอายุ 50 ปี

6. ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เต้านมประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเต้านม ผู้หญิงบางคนมีไขมันมากกว่าเนื้อเยื่อเต้านม ขณะที่บางคนมีเนื้อเยื่อมากกว่าไขมัน ซึ่งผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงมีแนวโน้มเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่าประสิทธิภาพการทำแมมโมเกรมที่ใช้ในการตรวจคัดกรองผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะลดลง 36-38% เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมจะบดบังก้อนเนื้อไว้ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นต่ำ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

1. เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเต้านมผู้หญิงมีการเติบโตตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน จึงทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่า

2. อายุ เมื่ออายุเพิ่มก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งอายุ 30-39 ปี มีความเสี่ยงในการเกิด 1 ใน 228 หรือ 0.44% แต่เมื่ออายุ 60 ปี ความเสี่ยงในการเกิดจะเพิ่มเป็น 1 ใน 29 หรือ 3.5%

3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะสายตรง ได้แก่ บิดา มารดา พี่ น้อง หรือบุตร เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ และหากเป็นก่อนอายุ 50 ปี คุณจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม

4. ประวัติมะเร็งเต้านมของผู้ป่วย หากเคยเป็นมะเร็งเต้านมก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นอีกข้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีประวัติ

5. การรับรังสี หากเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอกตอนเด็กมาก่อนจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม และความเสี่ยงจะมากขึ้นหากได้รับการฉายรังสีในช่วงที่เต้านมมีการเติบโต คือช่วงอายุประมาณ 10 ปี

6. การมีประจำเดือนเร็ว หมดช้า ร่างกายได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุน้อยกว่า 12 ปี การหมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี หรือได้รับสารกระตุ้นที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น เนื้อสัตว์บางชนิด หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น
 
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.