Bangpakok Hospital

อาการคันจุดซ่อนเร้น หากปล่อยไว้..เสี่ยงการติดเชื้อ

9 ธ.ค. 2564



อาการคันบริเวณจุดซ่อนเร้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคเชื้อราในช่องคลอด” ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่คิดว่าอาการคันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ จึงทำให้มองข้ามเรื่องนี้ไป จนไม่เคยรู้เลยว่าอาการคันที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่อาการช่องคลอดอักเสบ บวมแดง และเกิดการติดเชื้อได้

สาเหตุหลักของโรคเกิดจาก การเสียสมดุลจุดซ่อนเร้น เกิดการสูญเสียแบคทีเรียแลคโตบาซิลไล ทำให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตมากขึ้น เกิดอาการคันยุกยิก จนนำไปสู่อาการที่รุนแรงมากขึ้นตามมา อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ดังนั้นหากมีอาการคันที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์สูตินรีเวช เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน และรักษาอาการให้ดีขึ้น เพื่อคืนความมั่นใจให้กับผู้หญิงทุกคน

การวินิจฉัยอาการคัน
อาการคันจุดซ่อนเร้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยแพทย์สูตินรีเวช แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติ เช่น เคยมีประวัติการติดเชื้อรา หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ และตรวจภายในเพื่อดูความผิดปกติ เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจหาสาเหตุของอาการคัน

สาเหตุของอาการคัน
อาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีสาเหตุดังต่อไปนี้

ปัญหาสุขภาพ
1. วัยทอง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง จะมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนลดลง ทำให้เมือกที่เคลือบช่องคลอดบางลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้งจนทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้
2. โรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิดทำให้ผิวตรงจุดซ่อนเร้นเกิดอาการคันได้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยอาจมีผื่นแดงลุกลามไปยังบริเวณช่องคลอด
3. ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากการไม่สมดุลของแบคทีเรียชนิดที่ดีและไม่ดีซึ่งอยู่ภายในช่องคลอด โดยอาการที่พบบ่อยคือ คันบริเวณช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น จะมีลักษณะบาง เป็นสีขาว เทาขุ่น หรือเป็นฟอง
4. การติดเชื้อรา เกิดจากจำนวนเชื้อราในช่องที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการคัน รู้สึกแสบร้อน และมีตกขาวลักษณะเป็นก้อนไหลออกมาจากช่องคลอด
5. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อทริโคโมแนส หนองในแท้ หนองในเทียม ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันบริเวณช่องคลอด และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีสีเหลือง หรือสีเขียว
6. มะเร็งปากช่องคลอด อาการคันอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากช่องคลอดได้ ซึ่งในบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการคันช่องคลอด มีเลือดออก และเจ็บบริเวณช่องคลอด

พฤติกรรมการใช้ชีวิต
1. โกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น เมื่อขนเริ่มขึ้นใหม่จะรู้สึกคันอย่างรุนแรง ทั้งนี้ควรใช้วิธีกำจัดขนด้วยการเล็มหรือแวกซ์แทน เพื่อป้องกันอาการคันบริเวณช่องคลอด
2. การใช้สารเคมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดมักมีสารเคมีที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและส่งผลให้คันบริเวณช่องคลอดได้ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือกระดาษชำระ
3. ความเครียด มักพบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดได้ เพราะความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและมีอาการคันได้ง่าย
4. ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่ม้า หรือสวมใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นเกินไป

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการคัน
1. ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน จะสามารถรักษาได้อย่างตรงจุด
2. รับประทานยาให้ครบตามคำแนะนำ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
3. หากต้องใช้ยาเหน็บ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
4. ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุ่นและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว แต่ไม่ควรล้างมากกว่า 1 ครั้ง/วัน เพราะอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง
5. งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันช่องคลอดจะหายเป็นปกติ
6. เลือกใส่กางเกงหรือกางเกงชั้นในที่สวมใส่สบายไม่รัดแน่น
7. ไม่เกาผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรง

การป้องกันอาการคัน
1. ไม่ใส่กางเกงที่รัดรูปจนเกินไป ควรเลือดเนื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี
2. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น กางเกงชั้นใน ผ้าเช็ดตัว
3. รับประทานอาการที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล เช่น โยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลตโตบาซิลลัส ที่ช่วยรักษาสมดุลความเป็นกรดด่างในช่องคลอด
4. หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
5. ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
6. หากเข้าห้องน้ำสาธารณะควรระมัดระวังเรื่องความสะอาด
7. ช่วงที่มีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุกๆ 4 ชั่วโมง
8. ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ฝ่ายชายควรทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อนทุกครั้ง
9. ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ควรทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำเปล่า
10. หากมีอาการคันจุดซ่อนเร้น หรือตกขาวผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.