Bangpakok Hospital

6 โรคที่ควรระวัง ในช่วงฤดูหนาว

30 พ.ย. 2564



ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น มีลมหนาวพัดเข้ามา บ่งบอกได้ว่ากำลังเข้าสู่ฤดูหนาว หลายๆคนอาจชอบเพราะทำให้รู้สึกว่าเย็นสบาย แต่รู้หรือไม่สภาพอากาศเช่นนี้จะทำให้ร่างกายป่วยได้ง่ายกว่าปกติ

เนื่องจากในช่วงอากาศที่เย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือสุขภาพไม่แข็งแรง จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ดังนั้นเรามาทำความรู้จัก  6 โรคที่มากับหน้าหนาว  เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคต่างๆ และป้องกันการเจ็บป่วย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงแต่เนิ่นๆ มาดูกันว่าโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาวที่ควรระวังมีอะไรกันบ้าง


1. โรคไข้หวัด
ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆไข้หวัดใหญ่ แต่ข้อแตกต่างคือไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ ไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ

วิธีรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสหลายชนิด และส่วนใหญ่มักจะหายเอง หากเป็นไข้หวัดควรพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำให้บ่อย เช็ดตัวบ่อยๆเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย และรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ และยาลดน้ำมูก หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อเช็คอาการ

วิธีดูแลตัวเอง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซี ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ

2. โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (Influenza virus) หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ Influenza A และ B หากเป็นจะมีอาการหนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย

วิธีการรักษา
ควรดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย เช็ดตัวบ่อยๆ รับประทานยาตามอาการ หากรับประทานยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

วิธีดูแลตัวเอง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีนได้แก่ เด็กเล็ก คนชรา แพทย์ และพยาบาล โดยต้องเข้ารับการฉีดทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

3. โรคปอดบวม
เกิดจากภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไว้รัส ทำให้มีหนองและสารน้ำในถุงลม จนเนื้อบริเวณปอดนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ คัดจมูก จาม และมีเสมหะมาก มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน หนาวสั่น แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด มักจะพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 - 10 ปี

วิธีการรักษา
หากรู้สึกว่ามีอาการคล้ายเป็นปอดบวม ควรรีบพบแพทย์ทันที หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการปอดบวมจะได้รับยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม

วิธีดูแลตัวเอง
รีบรับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม

4. โรคหัด
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อรูบีโอลาไวรัส มักระบาดช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน มักพบในเด็กตั้งแต่อายุ 2 - 12 ขวบ ติดต่อกันได้ง่าย จากการไอ จาม รดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาคือ น้ำมูกไหล ไอแห้ง ตาและจมูกแดง มีไข้สูง หากมีไข้ติดต่อกัน 3-4 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และยังมีตุ่มใสๆ ขึ้นในปาก กระพุ้งแก้ม และฟันกรามบน ซึ่งตุ่มเกิดขึ้นเฉพาะโรคหัดเท่านั้น พอผื่นออกได้ประมาณ 1 - 2 วัน เด็กจะมีอาการดีขึ้น

วิธีการรักษา
ยังไม่มียารักษาโดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจสั้น เจ็บหน้าอกขณะหายใจ ชัก ควรรีบพบแพทย์ทันที

วิธีดูแลตัวเอง
ฉีดวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมันและคางทูม จะช่วยป้องกันโรคหัดได้ โดยจะเริ่มฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ

5. อุจจาระร่วง
เป็นอีกโรคที่มากับฤดูหนาวที่ควรระวัง ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่ระบาดมากสุดช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านกระเพาะอาหารแล้วแบ่งตัวที่ลำไส้ พบบ่อยในเด็กอายุ 6-12 เดือน เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ อาการของโรคจะมีไข้ ท้องเสียรุนแรงและอาเจียนอย่างหนัก บางรายเสียน้ำมากจนช็อกหรือเสียชีวิต

วิธีการรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการให้ดีขึ้น โดยควรจิบเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำได้ จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทน

วิธีดูแลตัวเอง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน วัคซีนจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค และลดความรุนแรงลงได้

6. โรคไข้สุกใส
มักระบาดช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อไวรัสวาริเซลลา ติดต่อผ่านทางการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง สัมผัสของใช้ มีระยะฟักตัวในร่างกาย 10 - 20 วัน พบมากในเด็กอายุ 5 - 15 ปี โดยเกิดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน

วิธีการรักษา
ต้องรักษาตามอาการ เมื่อมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ควรแคะ แกะ เกา บริเวณตุ่ม เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นแผลเป็นได้ ส่วนมากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ต้องพบแพทย์ เพราะอาการไม่รุนแรง ไม่มีมีโรคแทรกซ้อน

วิธีดูแลตัวเอง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้สุกใส โดยฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็น ก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้เช่นกัน

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.