Bangpakok Hospital

อันตรายจากเสียงดัง เสี่ยงเกิดโรคประสาทหูเสื่อม

20 ต.ค. 2564



โรคประสาทหูเสื่อม หรือโรคประสาทหูดับฉับพลัน คือการที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันที หรือภายในระยะเวลาสั้นๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลง หรืออาจสูญเสียการได้ยินมาก

ซึ่งโรคนี้จะพบบ่อยมากในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดัง ได้แก่ งานอุตสาหกรรมโลหะ งานตัดไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาชีพขับรถรับจ้าง โดยมักจะมีความผิดปกติของหูทั้ง 2 ข้างมากกว่าข้างเดียว โดยปัญหาที่พบบ่อยคือ ฟังคนอื่นพูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจ เฉพาะอย่างยิ่งจะได้ยินลำบากมากขึ้นถ้าอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง

ดังนั้นผู้ที่ปฎิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางเสียง จึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน ถ้ารู้สึกว่ามีการได้ยินในหูลดน้อยลงอย่างเฉียบพลัน ควรรีบมาพบแพทย์ หู คอ จมูก โดยเร็ว หากได้รับการรักษาที่ช้าไป อาจเสี่ยงเกิดความพิการในหูอย่างถาวรได้

โรคประสาทหูเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุอาจเกิดจาก

1. การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด , โรคงูสวัด , โรคคางทูม และโรคไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีการอักเสบของประสาทหูและเซลล์ประสาทหู ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติไป เชื้อไวรัสสามารถผ่านเข้าสู่หูในทางกระแสเลือด , ผ่านทางน้ำไขสันหลัง


2. การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงในหูชั้นใน ทำให้เซลล์ประสาทหูและประสาทหูขาดเลือด จึงทำหน้าที่ผิดปกติไป เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน หรือเซลล์ประสาทหูนั้นไม่มีแขนงจากเส้นเลือดใกล้เคียงมาช่วย เมื่อมีการอุดตันจะทำให้เซลล์ประสาทหูตาย และเกิดประสาทเสื่อมได้ ซึ่งเส้นเลือดอาจอุดตันจาก

- เส้นเลือดแดงหดตัวเฉียบพลัน เกิดจาก ความเครียด , พักผ่อนไม่เพียงพอ , 

- เส้นเลือดที่เสื่อมตามวัย แล้วมีไขมันมาเกาะตามเส้นเลือด หรือมีโรคบางโรคที่ทำให้เส้นเลือดตีบแคบมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง , โรคไขมันในเลือดสูง , โรคเบาหวาน

- เลือดข้นจากการขาดน้ำ

- มีลิ่มเลือดมาอุดเส้นเลือด อาจเกิดจากโรคหัวใจ และจากการบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆ

-การอักเสบของเส้นเลือด

3.การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง 
อาจเกิดจากการสั่งน้ำมูกแรงๆ การไอแรงๆ หรือการที่มีความดันใส่สมองสูงขึ้น ทำให้ประสาทหูเสื่อม มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียงดังในหู

โรคประสาทหูเสื่อมที่ทราบสาเหตุอาจเกิดจาก

1.การบาดเจ็บ

- การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทหู เซลล์ประสาทหู หรือมีเลือดออกในหูชั้นใน

- การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน เพื่อให้ได้ยินดีขึ้น

- การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศ เช่น ดำนำ ขึ้นที่สูง หรือเครื่องบิน

2. เนื้องอก เช่น เนื้องอกของประสาททรงตัวที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน เช่น มีเลือดออกในเนื้องอก จนอาจไปกดทับประสาทหู
3. การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ จากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
4. สารพิษและพิษจากยา ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของ salicylate, ยาขับปัสสาวะ หลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อหรือหูตึงมักจะดีขึ้นและอาจกลับมาเป็นปกติ
5. โรคนำในหูไม่เท่านั้น อาจกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหูหรือเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย

วิธีป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น

1. หลีกเลี่ยงเสียงดัง
2. ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเลือด ควรควบคุมให้ดี
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
4. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
5. ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และงดการสูบบุหรี่
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด
7. พักผ่อนให้เพียงพอ

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.