Bangpakok Hospital

7 ปัจจัยเสี่ยง ของอาการใจสั่น

24 ก.ย. 2564




อาการใจสั่นเกิดจากการที่หัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นเบาเกินไป หรือแรงเกินไป ซึ่งหลายๆคนอาจเคยมีอาการ ใจสั่น แต่กลับมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เดี๋ยวก็หายไป


สาเหตุของอาการใจสั่นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ในผู้ป่วยบางรายภาวะใจสั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นของการเป็นโรคหัวใจอย่างเส้นเลือดสมองอุดตัน หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


อาการใจสั่นที่เป็นอันตรายมักจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ดังนั้นหากมีอาการใจสั่นบ่อยๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคใด ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด


สาเหตุของอาการใจสั่น
1. การออกกำลังกาย

เช่น การวิ่ง จะส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหัวใจต้องทำการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อจึงทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดอาการใจสั่น
2. การทานยาบางชนิด
เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดน้ำหนัก หรือยาความดัน  หากรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกันก็อาจทำให้ใจสั่นได้
3. ระดับน้ำตาลในเลือด
หากทั้งวันไม่ได้ทานข้าว อาจทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก และหน้ามืดได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง
4. เครียดหรือกังวล
มีผลเร่งการเต้นของหัวใจ เพื่อให้ร่างกายเผชิญความกลัว แม้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายก็ตาม ส่งผลให้เกิดอาการใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก หายใจติดขัด
5. รับคาเฟอีกมากเกินไป
คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้ใจสั่นได้ นอกจากกาแฟ ยังพบได้จากอาหารหรือเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น ช็อคโกแลต โซดา เป็นต้น 6.มีไข้
มีไข้มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับความเจ็บป่วย หัวใจจึงทำงานหนัก ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
7.โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Arrhythmia ซึ่งทำให้เกิดอาการใจสั่นได้

 

ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดจาง ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษา ภาวะหัวใจก็จะกลับสู่ปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.